การเตรียมตัวก่อนผ่าคลอด

โดยส่วนใหญ่แล้วการผ่าคลอดจะต้องมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า ดังนั้นหากคุณแม่ทราบกำหนดการผ่าคลอดแล้ว แพทย์จะแนะนำให้พูดคุยกับวิสัญญีแพทย์เกี่ยวกับเงื่อนไขสุขภาพเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาสลบ นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่ทำการตรวจเลือดก่อนทำการผ่าตัด เพื่อดูระดับฮีโมโกลบินและกรุ๊ปเลือดของคุณแม่ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์จัดเตรียมเลือดสำรองไว้ในกรณีทื่ให้เลือดในระหว่างการผ่าตัดได้อย่างถูกต้อง

หากคุณแม่วางแผนคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ การเตรียมตัวสำหรับการผ่าคลอดในกรณีที่อาจคาดไม่ถึงก็สำคัญเช่นกัน โดยคุณแม่ควรพูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการผ่าคลอดก่อนจะถึงกำหนดคลอด เนื่องจากในกรณีฉุกเฉินแพทย์อาจไม่สามารถอธิบายและให้คำตอบเกี่ยวกับรายละเอียดได้

นอกจากนี้คุณแม่ควรมองหาคนที่คอยช่วยดูแลเด็กทารกจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากหลังการผ่าคลอด คุณแม่ต้องการได้รับพักผ่อนและการพักฟื้นอย่างมากเพื่อให้แผลผ่าตัดหายเร็วขึ้น การดูแลทารกด้วยตนเองอาจทำให้แผลหายช้าหรือติดเชื้อได้ ทั้งนี้เมื่อถึงกำหนดการผ่าคลอด คุณแม่ควรปฏิบัติตัวดังนี้

การเตรียมตัวที่บ้าน

เมื่อถึงกำหนดในการผ่าคลอด แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่อาบน้ำด้วยสบู่ฆ่าเชื้อมาก่อนทำการผ่าคลอด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และห้ามโกนขนอวัยวะเพศ เพราะจะทำให้ความเสี่ยงจากการติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัดเพิ่มขึ้น หากจำเป็นต้องกำจัดขนเหล่านั้นออก แพทย์จะทำการตัดในระหว่างก่อนผ่าตัดเอง

การเตรียมตัวที่โรงพยาบาล

ก่อนเข้าทำการผ่าคลอด คุณแม่จะต้องได้รับการทำความสะอาดบริเวณท้อง และใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อสวนปัสสาวะที่ตกค้างอยู่ ซึ่งแพทย์จะค้างสายสวนปัสสาวะเอาไว้จนผ่าคลอดเสร็จและจะนำออกหลังจากผ่าคลอดประมาณ 1 วัน นอกจากนี้ยังมีการเจาะแขนเพื่อใส่สายน้ำเกลือสำหรับการให้เลือดหรือยา และคุณแม่อาจต้องใช้ยาลดกรดเพื่อลดอาการปวดท้องในระหว่างผ่าตัด

วิธีการผ่าคลอด

กระบวนการผ่าคลอดนั้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของการคลอด ซึ่งการผ่าคลอดโดยทั่วไปจะกินเวลาประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และเด็กจะถูกนำออกมากจากครรภ์ในช่วง 5-15 นาทีแรก โดยวิธีการผ่าคลอดจะเริ่มจากการให้ยาชา ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ยาชาประเภทยาชาเฉพาะส่วน ซึ่งจะทำให้รู้สึกชาที่บริเวณส่วนล่างของร่างกาย ยาชาชนิดนี้จะทำให้มารดารู้สึกตัวขณะทำการผ่าคลอด ทั้งนี้การฉีดยาชามักจะทำที่บริเวณกระดูกรอบ ๆ กระดูกสันหลัง แต่หากเป็นในกรณีฉุกเฉินอาจจำเป็นต้องใช้ยาสลบ ซึ่งการใช้ยาสลบจะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวขณะที่ทำคลอด

จากนั้นเมื่อยาชาหรือยาสลบออกฤทธิ์ แพทย์จะเริ่มทำการกรีดเปิดปากแผลที่บริเวณผนังหน้าท้อง ทีละชั้น ผ่านเนื้อเยื่อไขมัน เนื้อเยื่อเกี่ยวกันและกล้ามเนื้อหน้าท้องเพื่อเข้าสู่ช่องท้อง ซึ่งขนาดของแผลผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ถ้าหากเปิดแผลใหญ่ก็จะทำให้เด็กออกมาได้ง่ายขึ้น

เมื่อกรีดเปิดปากแผลลงไปถึงช่องท้องได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการเปิดมดลูก โดยการกรีดเปิดมดลูกจะขึ้นอยู่กับท่าทางของทารกในครรภ์ หรือภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะรกต่ำ ซึ่งอาจขัดขวางมดลูก จากนั้นแพทย์จะค่อย ๆ นำทารกออกมาจากมดลูกและทำความสะอาด นำเอาของเหลวในปากและจมูกของเด็กออก ตัดสายสะดือ และเมื่อเด็กปลอดภัยแล้วก็จะทำการเย็บปิดแผลทีละชั้นในขั้นตอนต่อไป ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้ไหมละลายในการเย็บปิดแผล